การบำบัดรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin Therapies)
ทางเลือกในการรักษา4
แม้ว่ารูปแบบวิธีการรักษาอาจขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยที่มีอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง (PI) ส่วนใหญ่ยังคงมีทางเลือกในการรักษาหลากหลายและการบำบัดรักษามีประสิทธิภาพแตกต่างกันไป ดังนี้
การบำบัดโดยการให้แอนติบอดีทดแทน (Antibody replacement therapy)
การรักษาด้วยการให้แอนติบอดีทดแทนจะใช้วิธีการฉีดแอนติบอดีชนิด IgG เข้มข้นเข้าเส้นเลือดดำของผู้ป่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญสำหรับผู้ป่วยที่ร่างกายไม่สามารถผลิตแอนติบอดีได้ในปริมาณที่เพียงพอ โดย IgG ที่ใช้นั้น ถูกผลิตขึ้นจากการรวบรวมพลาสมาจากผู้คนจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าได้แอนติบอดีที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพครอบคลุม หรือที่รู้จักกันในนามของ อิมมูโนโกลบูลิน แกมม่าโกลบูลิน หรือ อิมมูนซีรั่มโกลบูลิน ส่วนขั้นตอนการเตรียมฉีดสารเข้าทางเส้นเลือดจะเรียกว่า IVIG (intravenous immunoglobulin) หรือ immunoglobulin intravenous (IGIV)
IVIG มักใช้ในการรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิ เช่นเดียวกับการใช้ยาที่ช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน (immunomodulatory therapy)
ทั้งการรักษาแบบให้แอนติบอดีทดแทนและแบบ IVIG จะไม่ได้กระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยการฉีดซ้ำเป็นช่วงๆ เพื่อรักษาระดับการป้องกัน ซึ่งผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิส่วนใหญ่มักได้รับการฉีด IVIG เพื่อการทดแทนแอนติบอดีทุกๆ 3-4 สัปดาห์
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด คือ กระบวนการผู้ป่วยโรค PIs ได้รับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดจากคนปกติ ในอดีตเซลล์ต้นกำเนิดจะถูกดึงมาจากไขกระดูกของผู้บริจาค แต่เทคนิคใหม่ในปัจจุบันสามารถแยกเซลล์ต้นกำเนิดได้จากกระแสโลหิต (peripheral blood) และเลือดจากสายสะดือ (cord blood) การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนิยมใช้กับผู้ป่วยโรค PIs ที่มี granulocytes หรือ T-cell บกพร่อง หรือมีการบกพร่องร่วมของทั้ง T-cell และ B-cell เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องร่วมชนิดรุนแรง (severe combined immunodeficiency disease, SCID), โรค Wiskott-Aldrich syndrome, โรค Hyper-IgM syndrome และโรค chronic granulomatous disease
Gamma-interferon, PEG-ADA, และ G-CSF
Gamma-interferon, PEG-ADA และ G-CSF เป็นวิธีการบำบัดซึ่งมีการปรับและพัฒนาจากเอนไซม์และโปรตีนต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายจำเพาะต่อกระบวนการต่างๆ ของการเกิดโรค PIs โดยที่ Gamma-interferon อาจถูกใช้เพื่อช่วยให้เซลล์ฟาโกไซต์ทำลายเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในผู้ป่วยโรค chronic granulomatous disease (CGD) สำหรับ PEG-ADA อาจใช้ในการเยียวยาทารกที่เป็น SCID อันเนื่องมาจากการขาดเอ็นไซม์ adenosine deaminase (ADA) ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่ได้พบบ่อย ส่วน G-CSF (Granulocyte-Colony Stimulating Factor) จะใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือผู้ที่มีปริมาณ granulocytes ต่ำ
ยีนบำบัด
ยีนบำบัดเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนถ่ายยีนปกติให้แก่ผู้ที่มียีนบกพร่อง แม้ว่าวิธีนี้จะให้ผลเชิงบวกแก่ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยที่ป่วยด้วยโรค SCID ประเภทต่าง ๆ แต่วิธีการรักษานี้ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างการทดลอง
โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิ (PIs)
เป็นภาวะของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีสาเหตุจากพันธุกรรมของผู้ป่วยรวมถึงปัจจัยจำเพาะภายในเซลล์และเนื้อเยื่อของระบบภูมิคุ้มกัน โดบที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการป่วยด้วยโรคอื่นๆ และไม่ได้เกิดจากการรับยาหรือสารอื่นจากภายนอกร่างกายซึ่งอาจเข้าไปกระทบหรือทำลายระบบภูมิคุ้มกัน การบำบัดโดยการฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (intravenous immunoglobulin, IGIV) สามารถใช้ในการรักษา PIs ที่เกี่ยวเนื่องกับความบกพร่องในระบบภูมิคุ้มกันผ่านแอนติบอดี (humoral immunity) (เช่น ภาวะที่ไม่ผลิตแอนติบอดี) หรือกรณีอื่นๆ อาทิเช่น common variable immunodeficiency, X-linked agammaglobulinemia, โรค Wiskott – Aldrich syndrome, และ severe combined immunodeficiency อย่างไรก็ตาม IGIV อาจไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา PI บางประเภท เช่น ภาวะบกพร่องของ IgA หรือภาวะบกพร่องของคอมพลีเมนท์ 1 ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จำแนกแยกย่อยโรค PIs ลงไปกว่า 150 ชนิด 2,3
โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิด common variable immunodeficiency
เป็นความผิดปกติซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ มีซีรั่มอิมมูโนโกลบูลินหรือแอนติบอดีต่ำซึ่งทำให้ไวต่อการติดเชื้อ ในหลายกรณีสาเหตุทางพันธุกรรมที่เป็นต้นเหตุของความบกพร่องที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีซีรั่มอิมมูโนโกลบูลินต่ำนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด มีลักษณะคล้ายกับความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน “ที่พบได้ทั่วไป” แต่ระดับและประเภทของซีรั่มอิมมูโนโกลบูลินหรือแม้แต่แนวทางหรือเวชปฏิบัติของการรักษาอาจ "ผันแปรหรือแตกต่างกันไป" ตามผู้ป่วยแต่ละราย 4
X – linked agammaglobulinemia
ผู้ป่วยเพศชายที่มีอาการของ PI จะมีความไวต่อการติดเชื้อแบคทีเรียสูง เนื่องจากการกลายพันธุ์ของยีน Btk ซึ่งอยู่บนโครโมโซม X ส่งผลให้ผลิตแอนติบอดีไม่เพียงพอ 5 ความผิดปกติที่เชื่อมโยงกับโครโมโซม X นี้จะแสดงผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในบุตรชายที่เกิดจากแม่ที่เป็นพาหะแม้ผู้เป็นแม่จะไม่แสดงอาการใดๆ 4
โรค Wiskott - Aldrich syndrome
เป็นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีน WAS บนโครโมโซม X 6
โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องร่วมชนิดรุนแรง (Severe combined immunodeficiency, SCID)
โรค SCID นี้เป็นโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแบบรุนแรงที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม โดยความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ว่านี้เกิดจากความไม่ปกติของยีนตัวใดตัวหนึ่งที่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่งผลต่อพัฒนาการและประสิทธิภาพการทำงานของทั้ง B-cells และ T-cells ในระบบภูมิคุ้มกัน
โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดทุติยภูมิ
ภาวะบางอย่าง เช่น การเป็นเนื้อร้าย (malignancy) บางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อร้ายของระบบเม็ดเลือด (haematopoietic) และระบบน้ำเหลือง (lymphoreticular) โรคทางเมตาบอลิก การขาดสารอาหาร แผลไหม้หรือการติดเชื้ออย่างรุนแรง เหล่านี้อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันและแอนติบอดีทำงานและตอบสนองบกพร่อง การฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (IGIV) สามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (chronic lymphatic leukemia, CLL) และชนิด myeloma (MM) ได้ 8 ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยการฉีดอิมมูโนโกลบูลินทดแทนมากกว่าการรักษาโรคในขั้นปฐมภูมิ
โรคภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านทานเกล็ดเลือด (Immune thrombocytopenic purpura, ITP)
โรคภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านทานเกล็ดเลือด บางครั้งเรียกว่า Idiopathic Thrombocytopenic Purpura เป็นโรคประเภทออโตอิมมูน (auto immune disease) คือ มีอาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อร่างกายตัวเอง ลักษณะที่ปรากฏจะมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเกล็ดเลือดตนเองเช่นเดียวกับที่ทำลายผู้บุกรุกอันตรายอย่างแบคทีเรีย เพราะเกล็ดเลือดคือตัวที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหล 9 ดังนั้นจึงอาจพบรอยจ้ำๆ เลือดกำเดาไหล หรือมีเลือดออกบริเวณเหงือกในผู้ป่วยที่มีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ
เอกสารอ้างอิง
1. Blaese RM, Winkelstein J. Patient & Family Handbook for Primary Immunodeficiency Diseases. Towson, MD: Immune Deficiency Foundation; 2007
2. International Patient Organisation for Primary Immunodeficiencies. PID info: list of some primary immunodeficiencies. Available at: http://www.ipopi.org/pid-info/list-of-some-primary-immunodeficiencies.html
3. Geha RS MD, Notarangelo LD MD, Casanova JL MD, et al. Primary immunodeficiency diseases: An update from the International Union of Immunological Societies Primary Immunodeficiency Diseases Classification Committee. J Allergy Clin Immunol; 2007; 120(4): 776-794.
4. Immune Deficiency Foundation (IDF) Web site. Patient & Family Handbook. Available at: http://www.primaryimmune.org/publications/book_pats/book_pats.htm
5. Anderson DM, Novak PD, Keith J, eds. Dorland's Illustrated Medical Dictionary. 31st ed. Philadelphia, PA: W.B. Saunders Company; 2007
6. Aldrich RA, Steinberg AG, Campbell DC. Pedigree demonstrating a sex-linked recessive condition characterized by draining ears, eczematoid dermatitis and bloody diarrhea. Pediatrics. 1954;13(2):133–139
7. National Human Genome Research Institute (NHGRI) Web site. Learning about severe combined immunodeficiency (SCID). Available at: http://www.genome.gov/13014325
8. KIOVIG Human Normal Immunoglobulin (IGIV) [package insert]. Wallisellen, Switzerland. Baxter Healthcare SA; March 2006
9. PDSA (Platelet Disorder Support Association) Web site. Available at http://www.pdsa.org/about-itp.html